แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท





  • สถานที่ตั้ง บ้านปราสาท หมู่ที่ ๗ ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

  • ประวัติความเป็นมา

เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา มีอายุราว ๓,๐๐๐-๑,๐๐๐ ปีเป็นที่รู้จักเพราะ นักค้าของเก่าลักลอบนำโบราณวัตถุในบริเวณหมู่บ้านไปขาย กรมศิลปากรจึงได้ดำเนินการจับกุมพร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาแหล่ง โบราณคดีนี้ในปี ๒๕๒๖ พบว่าแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น มีลำธารปราสาทไหลผ่านด้านเหนือ มีมนุษย์มาตั้งชุมชนครั้งแรกราว ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว รู้จักการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ มีการใช้สำริดบ้างแต่ไม่แพร่หลาย ทำภาชนะดินเผาทรงปากแตรสีแดงขัดมันและมีการนำภาชนะดังกล่าวฝังร่วมกับศพด้วย
ต่อมาในราว ๒,๒๐๐ ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสูงขึ้น โดยผลิตภาชนะดินเผาแบบพิมายดำขึ้นแทน มีการนำเหล็ก สำริด หินสีต่าง ๆ เช่น หินคาร์นีเลียน หินอเกต มาทำเครื่องใช้เครื่องประดับ จนราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ จึงเริ่มรับวัฒนธรรมทวารวดีและเขมรเข้ามา แต่เป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ชุมชนนี้จะสิ้นสุดไป

  • ลักษณะทั่วไป

๑. เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ขนาดใหญ่ และมีอายุที่เก่าแก่ที่สุดของเขตภาคอีสานตอนล่าง มีการจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ประกอบด้วยหลุมขุดค้นจำนวน ๓ หลุม โครงกระดูกสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว ๕๙ โครง รวมทั้งโบราณ วัตถุอื่น ๆ อีกจำนวนมาก
๒. เป็นแหล่งศึกษาพัฒนาการของมนุษย์ในอดีต ของดินแดนภาคอีสานตอนล่าง
๓. เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้น

  • หลักฐานที่พบ

๑. โครงกระดูกมนุษย์อยู่ในระดับความลึกตั้งแต่ ๑.๕๐ เมตร-๕ เมตร แสดงถึงการอยู่อาศัยทับซ้อนกันยาวนาน
๒. ภาชนะดินเผา หม้อปากแตร และหม้อแบบพิมายดำ
๓. เครื่องประดับและเครื่องมือสำริด

  • เส้นทางเข้าสู่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท

ไปตามถนนมิตรภาพ นครราชสีมา-ขอนแก่น แยกเข้าซ้ายมือบริเวณหลักกิโลเมตรที่ ๒๕

คลิกเพื่อดู แผนที่