พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน


ดินแดนอีสานถือว่าเป็นถิ่นไดโนเสาร์ เพราะบนแผ่นดินที่ราบสูงอีสานซึ่งมีอายุเก่าแก่นับร้อยล้านปีมาแล้วนั้น เคยเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์ และสัตว์โบราณต่างๆ ซึ่งซากเหล่านั้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาหลายร้อยล้านปีได้


ไม่เพียงแต่ซากดึกดำบรรพ์สัตว์ประเภทโครงกระดูกไดโนเสาร์เท่านั้นที่พบเจอในดินแดนแถบนี้ แต่อีสานยังมีซากดึกดำบรรพ์พืชอย่าง 'ไม้กลายเป็นหิน" ของแปลกมหัศจรรย์ที่พบได้มากในแถบอีสานเช่นกัน

เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาว่า ไม้กลายเป็นหินคืออะไร? และกลายเป็นหินได้อย่างไร?

หากใครอยากรู้คำตอบเหล่านี้ ที่พิพิธภัณฑ์ชื่อย้าว ยาว อย่าง "พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มีคำตอบพร้อมไม้กลายเป็นหินมากมายให้ชม

พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ ตั้งอยู่ที่บ้านโกรกเดือนห้า อ.เมือง จ.นครราชสีมา หรือเมืองโคราช เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของเมืองโคราชที่แม้จะยังไม่เปิดเป็นทางการ แต่ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาชมกันมาก เนื่องจากว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นพิพิธภัณฑ์ 1 ใน 7 ของโลก ที่รวบรวมเอาเรื่องราวของ "ไม้กลายเป็นหิน" ไว้ให้ศึกษาอย่างเต็มรูปแบบ



นับว่าเหมาะสมที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ นี้มาตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากว่าเมืองโคราชนี้ถือว่ามีศักยภาพด้านฟอสซิลอยู่ในระดับเอเชียและระดับโลก เพราะได้พบไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่จำนวนนับพันท่อน หลากหลายชนิดและอายุในพื้นที่เกือบ 20 อำเภอ และไม่เพียงแต่ไม้กลายเป็นหินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์และกระดูกไดโนเสาร์อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ นี้ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วน "พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน" ส่วน "พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์" และส่วน "พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์"



ในส่วนของ "พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน" ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ได้รวบรวมเอาไม้กลายเป็นหินมากกว่าร้อยชิ้น อายุประมาณ 8 แสน-320 ล้านปี มาจัดแสดงไว้ ทั้งบริเวณรอบๆ อาคารพิพิธภัณฑ์ และภายในอาคารด้วยเช่นกัน โดยหากนักท่องเที่ยวมาชม ก็ขอแนะนำให้เข้าไปปูพื้นฐานกันก่อนที่ห้องชมวิดีทัศน์เรื่องกำเนิดโลก ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้เบื้องต้นก่อนจะชมพิพิธภัณฑ์แล้ว ก็ยังจะได้ตื่นเต้นไปกับเทคนิคประกอบเรื่องที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง เช่นเมื่อเกิดภูเขาไฟระเบิดที่นั่งของผู้ชมก็จะสั่นไหวเหมือนกับมีแผ่นดินไหวตามไปด้วย



หลังจากรู้เรื่องราวการกำเนิดโลกแล้ว จากนั้นก็จะเข้าสู่ส่วนจัดแสดงเรื่องราวต่างๆ ของไม้กลายเป็นหิน ก็จะได้พบคำตอบว่า "ไม้กลายเป็นหิน" หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Petrified Wood" นั้น ก็คือไม้ที่กลายสภาพไปเป็นหิน เกิดขึ้นได้เพราะมีสารละลายแร่แทรกซึมเข้าไปแทนที่เนื้อไม้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ทำให้ไม้กลายเป็นหินบางท่อนนั้นยังมีลายวงปี เสี้ยนไม้ หรือเปลือกไม้ที่ยังเห็นได้ชัด เพียงแต่เนื้อไม้นั้นกลายเป็นหินไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนสาเหตุที่ไม้กลายมาเป็นหินนั้น ส่วนมากจะเกิดจากอิทธิพลของภูเขาไฟ เช่นเถ้าถ่านของภูเขาไฟซึ่งมีแร่ซิลิกาเป็นส่วนประกอบทับถมปกคลุมบริเวณที่มีต้นไม้หรือท่อนไม้ฝังอยู่ หรืออีกเหตุหนึ่งก็คืออิทธิพลของน้ำท่วม ทำให้ต้นไม้ถูกทับถมอยู่ใต้ตะกอนต่างๆ ในระดับลึก จนเกิดกระบวนการเปลี่ยนไม้ให้กลายเป็นหินเกิดขึ้น นอกจากนั้นก็ยังมีสีต่างๆ กันไป เช่น สีส้ม สีแดง สีเขียว สีดำ ฯลฯ เนื่องจากแร่ธาตุต่างๆ ที่มาเป็นองค์ประกอบอีกด้วย


สำหรับในประเทศไทยนั้น จังหวัดที่พบไม้กลายเป็นหินมากที่สุดคือจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งไม้กลายเป็นหินที่อายุมากที่สุดนั้นพบที่ อ.ปากช่องและวังน้ำเขียว มีอายุประมาณ 150 ล้านปี ด้วยกัน แต่ในภาคอีสานนั้นก็พบไม้กลายเป็นหินกระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น เป็นต้น

สิ่งที่ไม่ควรพลาดชมในพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินนี้ก็คือ ไม้กลายเป็นหินอัญมณี (Opallized Wood) พบที่บ้านมาบเอื้อง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อายุประมาณ 800,000 ปี ความยาวประมาณ 2 เมตร เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นเนื้อไม้กลายเป็นผลึกคล้ายอัญมณีตลอดทั่วทั้งลำต้น


นอกจากนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์นี้ก็ยังมีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับไม้กลายเป็นหินของประเทศต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่นในประเทศไทย เชื่อกันว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อาศัยอยู่ในไม้กลายเป็นหิน และหากใครได้สัมผัสก็จะทำให้มีอายุยืนยาว แต่ต้องบอกนิดหนึ่งสำหรับคนที่อยากได้ไม้กลายเป็นหินมาไว้ในครอบครองว่า ต้องระวังจะถูกจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ/หรือทั้งจำทั้งปรับอีก 7 แสนบาทด้วย
เมื่อทราบถึงที่มาของไม้กลายเป็นหินกันไปแล้ว หากอยากดูไม้กลายเป็นหินเหล่านี้ให้ชัดๆ ในบรรยากาศธรรมชาติ ก็ต้องออกมาชมที่ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ เพราะตรงส่วนนี้ได้จัดทำเป็นสวนไม้กลายเป็นหินที่จำลองภูมิประเทศของภาคอีสานบริเวณลุ่มน้ำชี-มูล และมีไม้กลายเป็นหินจากหลายแหล่งที่มาจัดแสดงไว้บริเวณนั้น เดินชมกันได้เพลินๆ


และนอกจากพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินแล้ว ก็อย่าลืมอีกสองพิพิธภัณฑ์ที่กล่าวไปในข้างต้น นั่นก็คือ "พิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์" ซึ่งจัดแสดงฟอสซิลช้างที่พบในโคราชถึง 9 สกุล จาก 42 สกุล ทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุเก่าแก่กว่าช้างแมมมอธของไซบีเรียและอเมริกาเหนือเสียอีก

ที่นี่เราจะได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจอย่างช้างสี่งา และช้างงาจอบ ช้างงาเสียม ที่มีอายุประมาณ 16-5 ล้านปี รวมทั้งเราจะได้ทำความรู้จักกับบรรพบุรุษและวิวัฒนาการของช้าง และต้องไม่พลาดชมหุ่นจำลองและโครงกระดูกของช้างสี่งาขนาดเท่าของจริง และงาช้างที่กลายเป็นหิน มีความยาวเกือบ 2 เมตร รวมไปถึงฟอสซิลของสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ เช่น เต่ายักษ์ ตะโขง ม้าโบราณ ยีราฟ ฯลฯ

และสุดท้ายคือ "พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์" ที่จะได้เห็นไดโนเสาร์โคราช 6 สายพันธุ์ อายุประมาณ 100 ล้านปี เช่น อิกัวโนดอน สยามโมไทรันนัส ฯลฯ รวมทั้งจะได้สนุกสนานไปกับห้องฉายภาพเคลื่อนไหวเป็นเรื่องราวของไดโนเสาร์กินเนื้อจอมโหดปะทะกับอิกัวโนดอนใจเด็ด เป็นวิดีทัศน์ที่สร้างด้วยเทคนิควิดีโอแอนิเมชั่น ฉายรอบทิศทางบนผนังโค้ง 360 องศา เรียกว่าไดโนเสาร์กระโดดจากฝั่งหนึ่งมาอีกฝั่งหนึ่งข้ามหัวผู้ชมกันเลยทีเดียว


พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ตั้งอยู่ที่ 184 ถนนมิตรภาพ-หนองปลิง หมู่ที่ 7 บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 23 กิโลเมตร เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 09.00-17.00 น. ขณะนี้ยังไม่เก็บค่าเข้าชมเนื่องจากยังไม่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 0-4421-6617 ถึง 8, 0-4421-6620 ถึง 1 หรือที่เว็บไซต์ www.khoratfossilmuseum.com




ที่มา : จาก โคราชมหัศจรรย์ "พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน"
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์6 สิงหาคม 2550 18:00 น.
และ
http://www.koratpop.com/