หมู่บ้านด่านเกวียน

หมูบ้านด่านเกวียน



ประวัติ
ด่านเกวียน เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลด่านเกวียนอำเภอโชคชัยห่างจากตัวเมืองนครราชสีมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร โดยมีทางหลวงหมายเลข 224 สายนครราชสีมาโชคชัยผ่านกลางหมู่บ้านซึ่งมีร้านค้าเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน เรียงรายอยู่สองฟากฝั่งและมีลำน้ำมูลทอดขนานอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกหมู่บ้าน ด่านเกวียนนั้นแต่เดิมพ่อค้าจากนางรอง - บรีรัมย์ - สุรินทร์ -ขุนหาญ - ขุขันธ์ เรื่อยไปจนถึงเขมรจะเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับพ่อค้าชาวโคราชและมักจะพักกองคาราวานเกวียนกัน เป็นประจำจนได้ชื่อ หมู่บ้านว่า" บ้านด่านเกวียน " และในขณะพัก พ่อค้าเหล่านั้นก็มักนำดินจากสองฟากฝั่งลำน้ำมูล มาทำภาชนะใช้สอยต่างๆ เช่น โอ่ง อ่าง ไหปลาร้า ฯลฯ โดยลอกเลียนแบบจากชนชาวข่าวซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อาศัยในพื้นที่แต่เก่าก่อนหลังจากนั้นเมื่อนำภาชนะเหล่านั้นกลับภูมิลำเนาของตน และด้วยคุณภาพพิเศษ ของภาชนะทั้งในด้านสีสันความคงทนต่อการใช้งาน จึงทำให้ภาชนะด่านเกวียนเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนจนได้รับการเผยแพร่ มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งได้รับความสนใจยิ่ง จนกลายเป็นสินค้าหนึ่งในการค้าขายกันในยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน

วิวัฒนาการ
เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน แต่เดิมมานั้นเป็นประเภทของใช้ในครัวเรือน เช่น โอ่ง อ่าง ครก ไหปลาร้า ต่อมาได้คิดทำที่รองขาตู้กับข้าว กระถางปลูกต้นไม้ ตะเกียงน้ำมันหมู โทน แจกัน การปั้นจะมีในช่วงฤดูหลังเก็บเกี่ยวแล้ว เป็นงานอดิเรก คนปั้นจะต้องทำเองทั้งหมดตั้งแต่นวดดิน ปั้น เผา วันหนึ่ง ๆ จะปั้นเฉพาะแค่จำนวนพะมอนที่มีอยู่เท่านั้น ไม่ได้ปั้นเพื่อหวังจะให้ได้จำนวนมาก ๆ ดังนั้นในช่วงเช้าอาจจะนวดดิน ช่วงบ่าย ๆ ก็จะปั้น บางวันก็ทำ บางวันก็ไม่ทำ เมื่อได้มากพอสมควรแล้วจึงเผา หลังจากนั้นจะบรรทุกเกวียนนำไปแลกข้าว พริก เกลือ หรือมีพ่อค้าจากหมู่บ้านใกล้เคียงและอำเภออื่น ๆ เช่น บ้านยองแยง บ้านพระพุทธ บ้านพะไล พิมาย นางรอง ฯลฯ มาซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป โดยใช้เกวียนเป็นพาหนะบรรทุกคราวละประมาณ 50 ถึง 100 เล่มเกวียน มาพักแรมเพื่อรอรับเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้จะเริ่มทยอยมาตั้งแต่เดือนอ้าย เดือนยี่ จนถึงเดือนหก พอฝนเริ่มตกก็จะหยุดเพื่อกลับไปทำนา

ราวปี พ.ศ. 2500 คณาจารย์ในคณะสถาปัตยกรรม นำโดย อาจาย์วทัญญู ณ ถลาง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน) (จ.นครราชสีมา) ได้ร่วมกันสำรวจศิลปะพื้นบ้าน และพบความแปลกใหม่ของวัสดุดินด่านเกวียน จึงได้ร่วมมือกันออกแบบให้มีรูปทรงที่แปลก เช่น ม้ารองนั่ง (stool) ตะเกียงหิน แจกันลวดลายเรขาคณิต เพื่อใช้ตกแต่งภายในวิทยาลัย และช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวของดินด่านเกวียนไปในหมู่สถาปนิกทั่วประเทศ ต่อมาได้มีผู้สนใจออกแบบให้มีรูปร่างที่แปลก ๆ และนำไปใช้ในงานตกแต่งภายใน ภายนอก และงานทางด้านสถาปัตยกรรมมากขึ้น ทำให้ชื่อเสียงของด่านเกวียนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ทั้งหมู่ชาวไทย และต่างประเทศ

ปัจจุบันการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ได้ขยายแนวทางการออกแบบ ตลอดจนการนำไปใช้หลากหลาย มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยในการผลิต เช่น การใช้แบบหล่อปูนพลาสเตอร์ การใช้เครื่องจักรนวดดิน การใช้เครื่องอัดกระเบื้อง การเตรียมดิน เริ่มมีการใช้ดินขาวมาเป็นส่วนผสมบ้าง เอามาตกแต่งลวดลายบ้างวิธีนี้นอกจากจะขึ้นรูปด้วยการขึ้นแป้นหมุนแล้ว วิธีอิสระก็ได้รับความนิยมมากในหมู่ช่างปั้นพื้นบ้าน ที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว การใช้แบบพิมพ์กด และการหล่อ เริ่มมีแต่ไม่มากนัก ส่วนการเคลือบมีเพียงแห่งเดียว คือ ร้านดินเผา การย้อมสีดินเผาให้เหมือนของเก่า เช่นการย้อมสีปลา และลวดลายกระเบื้องดินเผา มีเป็นส่วนน้อย

สำหรับเรื่องการออกแบบ ที่นิยมกันมากนอกจากแจกัน โอ่ง อ่าง แล้ว ได้มีการประดิษฐ์นกฮูกแฝดตั้ง กระเช้าแขวนนกฮูก กระเช้ารูปปลาแขวน นกยูงเดี่ยว นกยูงคู่ แมว กบ คางคก รูปปลาตั้งหางสะบัด โคมไฟ กระถาง ส่วนประเภทของที่ระลึก ได้แก่ สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู เข็มขัด พวงกุญแจ ตุ๊กตาดินเผา กระเบื้องประดับผนังดินเผา กระเบื้องปูพื้น


------------------------------------------

ที่มา : ศูนย์หัตถกรรม เครื่องปั้นดินเผา หมู่บ้านด่านเกวียน http://www.dankwian.com/