พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพิมาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ตั้งอยู่บนถนนท่าสงกรานต์ เชิงสะพานท่าสงกรานต์ ริมฝั่งแม่น้ำมูล ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากปราสาทพิมาย ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 300 เมตร

ประวัติ
พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พิมาย เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสาขา ก่อตั้งเมื่อปีพุทธศักราช 2507 โดยเริ่มจากการเป็นพิพิธภัณฑ์ กลางแจ้ง โบราณวัตถุที่จัดแสดงส่วนใหญ่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาท การขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน และการขุดค้นทางโบราณคดี ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ ต่อมาปีพุทธศักราช 2532 กรมศิลปากรได้พัฒนาปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว ก่อสร้างอาคาร 3 หลัง เชื่อมติดต่อกัน จัดแสดงและปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเสร็จสมบูรณ์ในปีพุทธศักราช 2536 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พุทธศักราช 2536 พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงถูกต้องตามหลักวิชาการพิพิธภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากลแห่งหนึ่งในประเทศไทย

การแสดง แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 อาคารจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนแถบอีสานตอนล่าง แสดงถึงรากฐานการกำเนิดอารยธรรมซึ่งมีมาจากความเชื่อต่างๆ ตลอดจนอิทธิพลวัฒนธรรมภายนอกที่เข้ามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

ส่วนที่ 2 อาคารชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะแบบเขมรในอีสานล่าง

ส่วนที่ 3 อาคารโถง จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทราย อาทิ ทับหลัง หน้าบัน เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน บัวยอดปราสาท และปราสาทจำลอง นอกจากนี้บริเวณรอบอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ยังได้จัดแสดงใบเสมาและทับหลังที่สวยงามอีกด้วย

การเข้าชม เปิดบริการทุกวัน เวลา 0900 - 1600 น.
> ค่าธรรมเนียมเข้าชม 30 บาท
> เฉพาะชาวไทย 10 บาท

หมายเหตุ บัตรรวมประกอบด้วยการเข้าชม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมหาวีรวงศ์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย โบราณสถานวัดพนมวัน อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และ โบราณสถานเมืองแขก จังหวัดนครราชสีมา
> ค่าธรรมเนียมเข้าชม 100 บาท
> เฉพาะชาวไทย 30 บาท

การเดินทาง
จากนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ (นครราชสีมา - หนองคาย) ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ถึงทางแยกตลาดแคเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 206 อีก 10 กิโลเมตร

ภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสัมฤทธิ์ อายุประมาณ 3,000 - 1,500 ปี ขนาด สูง 19 ซม. ปากกว้าง 14.5 ซม. พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ลูกปัดเปลือกหอย หินและแก้ว


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ หินและแก้ว สมัยสัมฤทธิ์ - สมัยเหล็ก อายุประมาณ 3,000 - 1,500 ปี พบที่บ้านปราสาท ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ


สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ 2,500 - 1,500 ปี พบบริเวณแหล่งโบราณคดีในลุ่มแม่น้ำมูล จังหวัดนครราชสีมา

ศิลาจารึกบ่ออีกา (ศรีจนาศะ)


จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 หินทรายสีแดง สูง 144 ซม. กว้าง 62 ซม. หนา 27 ซม. พบที่ บ่ออีกา ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา

ใบเสมา


ศิลปะทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 -16 หินทราย กว้าง 83 ซม. สูง 175 ซม. พบที่ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ

พระอิศวร


ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุประมาณ พ.ศ. 1560 - 1630 สัมฤทธิ์ ขนาดสูง 186.5 ซม. ฐานกว้าง 34.5 ซม. พบที่ ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

เครื่องประดับเทวรูป


ทอง ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุประมาณ พ.ศ. 1560 - 1630 พบที่ ปราสาทบ้านถนนหัก อำเภอหนองบุนนาก จังหวัดนครราชสีมา

แผ่นทองศิลาฤกษ์บรรจุในแท่นหินมงคล


ทอง ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุประมาณ พ.ศ. 1650 - 1720 พบที่ ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ทับหลังจำหลักภาพเรื่องกวนเกษียรสมุทร


หินทราย ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบนครวัด อายุประมาณ พ.ศ. 1650 - 1720 พบที่ กู่สวนแตง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์

พระพุทธรูปนาคปรกปางสมาธิ


หินทราย ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ. 1720 - 1780 พบที่ ปราสาทประธาน ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

พระวัชรสัตว์


เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง ในศาสนาพุทธลัทธิมหายาน ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ถือวัชระและกระดิ่ง สัมฤทธิ์ ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ. 1720 - 1780 พบบริเวณเมืองพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ประติมากรรมรูปพระเจ้าชัยวรมันที่ 7


หินทราย ศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะเขมรแบบบายน อายุประมาณ พ.ศ. 1720 - 1780 พบที่ ปรางค์พรหมทัต ปราสาทพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

พระพุทธรูปยืน


ศิลปะอยุธยา อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 - 23 หินทราย สูง 97 ซม. ได้จากวัดบ้านวัด อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา



การอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติ
หากขุดพบโบราณวัตถุบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ กรุณาแจ้งและส่งมอบโบราณวัตถุให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หน่วยงานของกรมศิลปากรในพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการศึกษาและวิเคราะห์ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของชาติ

ระเบียบปฏิบัติในการเข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ต้องแต่งกายเรียบร้อยและต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

1. ไม่นำหีบห่อและสิ่งใดๆ ที่อาจบรรจุปกคลุม ปิดบัง หรือซ่อนเร้นส่งของเข้าไปในห้องจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ
2. ไม่ก่อความรำคาญด้วยประการใดๆ แก่เจ้าหน้าที่หรือผู้เข้าชม
3. ไม่จับต้องหรือหยิบฉวยสิ่งของที่จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
4. ไม่สูบบุหรี่ในห้องที่จัดตั้งโบราณวัตถุและศิลปะวัตถุ
5. ไม่ขีด เขียน จารึก หรือทำความสกปรก แก่สิ่งของและอาคารสถานที่
6. ไม่ถ่ายภาพ หรือเขียนรูปสิ่งของที่จัดแสดงไว้โดยมิได้รับอนุญาต


-------------------------------------------------------
ที่มา : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
จาก http://www.tourguide.joomkoshop.com/

อ้างอิง : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ถ.สงกรานต์ ตำบลในเมือง
อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 30110
โทรศัพท์ และ โทรสาร (044) 471 167